วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Postmodernism

ความคิดสมัยใหม่ (Modernism) *               เราต้องยอมรับว่า สังคมนี้เป็นสังคมสมัยใหม่ที่เจริญทางวัตถุ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันมีทั้งผลดีและเสีย สร้างทั้งความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมเสีย สังคมมนุษย์เจริญก้าวหน้ามากเท่าไร  มนุษย์ยิ่งจำเป็นต้องการรู้ตนเองและสังคมมากเท่านั้น นักคิดทางสังคมทั้งหลายจึงพยายามศึกษาเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ทั้งหลายในอดีตกับปัจจุบัน เพื่อความรู้เข้าใจความเป็นมนุษย์กับสังคม เห็นความแตกต่างของสิ่งทั้งหลายอย่างชัดเจนที่เป็นไปตามกาลเวลา ตามหลักสัจจธรรมที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอนิจจังไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในด้านความคิด ความเชื่อ ค่านิยม การปฏิบัติ วิทยาการ  สิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีทั้งหลาย เกิดการยอมรับการวิวัฒนาการสังคมกันอย่างแพร่หลาย ยอมรับสิ่งใหม่มากกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่แทนของเดิม ทำให้ของเดิมที่มีอยู่แล้วกลับถูกมองเห็นว่าเก่าโบราณล้าหลังไม่ทันสมัยไม่ยอมรับกันอีกต่อไป อะไรคือความจริง อะไรคือใหม่ อะไรคือเก่า อะไรคือทันสมัย อะไรคือล้าหลัง
 

              ความคิดสมัยใหม่ (Modernism, Modernity or Modernization) ตาม Habermas (1987) และ Barry Smart กล่าวเอาไว้ว่า เริ่มมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 มาจากภาษาละตินว่า “modernus = modern” เป็นการพยายามทำให้เกิดความแตกต่างกันใหม่ในชาวคริสต์ จากการนับถือศรัทธาพระเจ้าไปสู่สิ่งอื่น แล้วต่อมาไม่นาน ก็มีการพยายามทำให้เกิดความแตกต่างกันใหม่อีกในชาวคริสต์ จากการนับถือศรัทธาพระเจ้าไปแสวงหาความรู้จริงสิ่งสากล พยายามรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายในสากลโลกตามความเป็นจริง รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายด้วยจิตหรือปัญญา เพราะอิทธิพลแนวความความคิดของคานต์ (Kant’s conception of a universal history) เป็นกระบวนการความแตกต่างทางความคิดและวัฒนธรรมจากเก่าไปสู่ใหม่ (Turner, 1991: 3) เป็นการแสวงหาความรู้จริงของสิ่งต่างๆ ทั้งหลายตามการเปลี่ยนแปลงเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของโลกทางสังคม เพราะความเป็นมาของสังคมนี้เชื่อศรัทธาในพระเจ้าเป็นผู้สร้างกำหนดบันดาล ไม่เชื่อมนุษย์และธรรมชาติคือผู้สร้างกำหนดแสดง
              แนวคิดใหม่ทันสมัย นักปราชญ์หรือนักคิดทางสังคมบางคนกล่าวบอกว่า ควรนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 เพราะเป็นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) แต่นักสังคมวิทยาส่วนใหญ่เห็นว่า แนวคิดใหม่ทันสมัย (Modernism) เป็นยุคประวัติศาสตร์ของสังคมยุโรปตะวันตก ที่เกิดการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพราะในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 เป็นยุคที่สนใจศึกษาค้นคว้าปรากฏการณ์ธรรมชาติแบบวิทยาศาสตร์ (Scientism) มาช่วยแก้ปัญหาสังคมทั้งหลายที่เกิดขึ้น แล้วส่งผลมีอิทธิพลต่อการศึกษาสังคมวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ของคองต์ในเวลาต่อมา (Comte’s positivism)
              ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จึงถือได้ว่าเป็นยุคความคิดใหม่ทันสมัย  (Modernism) อันหมายถึงยุคสมัยให้ความสนใจในเรื่องศิลปะ วรรณคดี วิทยาการ สถาบัน  เหตุผล  การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์  รูปแบบของชีวิต ความจริงของชีวิตบนฐานของความเจริญเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก กล่าวคือเป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญทางวัตถุ ความมั่นคงทางสังคม และความรู้เข้าใจตนเอง (Material progress, social stability and self-realization) ในยุโรปตะวันตก มีอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส  อิตาลี เป็นต้น แม้มีปัจจัยต่างๆ มากมายที่ทำให้เกิดสมัยใหม่ ปัจจัยสำคัญเหล่านี้ คือ ความจริง (Truth) เหตุผล (Rationality) วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) ผลของอุตสาหกรรม (Emergence of capitalism) การแผ่อำนาจทางตะวันตก (Western imperialism) การแพร่กระจายความรู้ และอำนาจทางการเมือง (Spread of literature and political power) การขับเคลื่อนทางสังคม (Social mobility)    เป็นสาเหตุสำคัญสนับสนุนส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพัฒนาสังคมโลก ที่เรียกกันว่า “สมัยใหม่ความทันสมัย (Modernism)” เพราะผลของความเจริญทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการขับเคลื่อนทางสังคม ทำให้มนุษย์ต้องการรู้เข้าใจตนเองและสังคมมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ทำให้ต้องมาคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อความถูกต้องดีงามแบบสากล แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโลกร่วมกัน เพื่อความรู้เข้าใจใหม่ร่วมกัน จึงขอลำดับเหตุการณ์การวิวัฒนาการแนวความคิดใหม่ทันสมัย ดังนี้

คริสต์ศตวรรษที่ 14 ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ               ในสังคมยุโรปตะวันตก ได้สนใจและค้นพบวิทยาการเก่าๆ ทั้งหลาย โดยเฉาะงานของเพลโต้ (Plato) และอริสโตเติ้ล (Aristotle) ยุคนี้ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูอย่างมาก แต่ก็มีกลุ่มนักคิดนักปราชญ์พยายามปฏิเสธความเชื่อและคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้า เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า เป็นสิ่งไม่มีตัวตน มองไม่เห็นสัมผัสจับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องงมงายไร้เหตุผลพิสูจน์ไม่ได้ จึงได้เกิดแนวคิดความเชื่อและลัทธิใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะความคิดความเชื่อในเรื่องความเป็นมนุษย์ ความจริงความถูกต้องดีงาม มาแทนความคิดความเชื่อเคารพศรัทธาในเรื่องพระเจ้า พยายามไล่กำจัดพระเจ้าออกไปจากสังคมมนุษย์ เพราะอิทธิพลแนวความคิดของเพลโต้ (Plato) และอริสโตเติ้ล (Aristotle)  มองเห็นคำสอนของศาสนาดั้งเดิมเป็นของเก่าล้าหลังไม่ทันสมัย เป็นการจุดประกายแสวงหาความจริงความถูกต้องดีงามขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากถูกปิดกั้นมานาน โดยแนวความคิดความเชื่อที่ว่า  สรรพสิ่งทุกอย่าง มนุษย์ โลก มาจากเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างกำหนดลิขิตบันดาลให้เป็นไปในโลกทางสังคม ทรงเอาพระทัยใส่ใจดูแลทุกสิ่งทุกอย่างให้ดำเนินไปด้วยดี  สร้างมนุษย์ขึ้นมาก็เพื่อให้รู้จักกับพระองค์ท่าน ต้องปฏิบัติตามหลักคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน มีความจงรักภักดีศรัทธาในพระองค์ท่าน ตายไปแล้วไปอยู่กับพระองค์ท่านในสวรรค์ ชีวิตเกิดขึ้นเป็นไปตามลิขิตบัญชาของพระองค์ท่านหรือเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นี้ แนวคิดอย่างนี้เชื่อศรัทธาพระเจ้ามีอิทธิพลบทบาทอย่างมากต่อชีวิตและจิตใจของชาวโลกตะวันตกถึงปัจจุบัน
              หากเราสนใจศึกษางานของเพลโต้ (Plato, 427-347 BC) ท่านเป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของกรีกและของโลก ที่เดินตามรอยของโสเครตีส (Socrates, 469-399 BC) ผู้เป็นอาจารย์ของท่าน โสเครตีสเกิดหลังพระพุทธเจ้าประมาณ 74 ปี ส่วนเพลโต้ก็ประมาณ 116 ปี  ท่านทั้ง 2 ถือได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวความคิดทางสังคมและการเมืองตะวันตก (Western socio-political thoughts) โสเครตีสมีความเห็นความเชื่อในเรื่องความจริง ความดี ความงาม เป็นสิ่งสากลมีอยู่แล้วในธรรมชาติ มนุษย์จะดีหรือเลว จะเจริญหรือเสื่อม อยู่ที่ตัวมนุษย์เอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครๆ  เช่นเดียวกับหลักการของพระพุทธศาสนา เขาพยายามสั่งสอนประชาชนให้เป็นคนดีมีปัญญาและคุณธรรม เน้นสอนในเรื่องความดีมีคุณธรรม เน้นสอนในเรื่องความเป็นมนุษย์และศักยภาพของมนุษย์ เชื่อมั่นในการกระทำของมนุษย์ ความดีมีคุณธรรมอยากได้ต้องทำเอง ไม่มีการซื้อขายไม่มีใครมาหยิบยื่นให้หรือไม่มีใครมาดลบันดาลให้ โสเครตีสมีลูกศิษย์มากมายและเป็นที่รักเคารพนับถือของประชาชนทั่วไป การสั่งสอนประชาชนที่ขัดกับหลักคำสอนของศาสนาดั้งเดิม ทำให้เขาถูกฟ้องร้องด้วยข้อหา 3 ข้อ คือ 1. ไม่เคารพนับถือศรัทธาเทพเจ้าของรัฐ 2. ตั้งเทพเจ้าองค์ใหม่ขึ้นมา 3. มั่วสุมมอมเมาเยาวชนให้หลงผิด แม้ผู้พิพากษาบอกว่า หากหยุดสอนประชาชนในเรื่องอย่างนี้ จะปล่อยให้เป็นอิสระไม่เอาผิดลงโทษ ท่านก็ไม่ยอมทำตาม ยังยึดมั่นในความดีถูกต้อง ไม่ยอมเสนอลดโทษให้แก่ตนเอง จึงถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยการดื่มยาพิษ แสดงให้เห็นว่า โสเครตีสไม่กลัวความตาย แต่ท่านกลัวความชั่วมากกว่า ยอมตายถวายชีวิตเพื่อรักษาธรรม ไม่ยอมก้มหัวให้อธรรม จารึกชื่อลือนามไว้ในโลกตราบเท่าทุกวันนี้



คริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ยุคแห่งการสำรวจและปฏิรูปศาสนาคริสต์*              ศตวรรษนี้ถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการสำรวจ พร้อมกับเผยแผ่ศาสนาวัฒนธรรมล่าอาณานิคมหรือล่าเมืองขึ้น (ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาของเรา, 1350-1767 AD) วิทยาการที่เจริญก้าวหน้าขึ้นทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์และการเดินเรือ นักสำรวจชาวยุโรปต่างพากันออกทะเลล่องเรือสำรวจโลกใหม่ทั้งทางตะวันตกและตะวันออกที่พวกเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นทวีปเอเชีย อเมริกา อาฟริกาหรือออสเตรเลีย การเดินทางของพวกเขาถือได้ว่าเป็นการเผยแผ่เชื่อมโยงวัฒนธรรมของโลกเป็นครั้งแรก เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่กระจาย “ความทันสมัย” แบบตะวันตกไปทั่วโลก
              ความเป็นไปในทุกระบบของสังคม มักมีศาสนาเข้าไปมีอิทธิพลบทบาทเกี่ยวข้องในทุกส่วน ระหว่างยุคกลางสังคมยุโรป (1000 – 1500 AD)  คริสต์ศาสนาอิทธิพลบทบาทอย่างมากในทุกระบบของสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม เพราะความเจริญเปลี่ยนแปลงทางสังคม การปฏิรูปศาสนาคริสต์โดยคริสต์ศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งก็เกิดขึ้น โดยการตั้งนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นมา  เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า คริสต์ศาสนาแบบดั้งเดิมนิกายคาทอลิกเก่าล้าหลังไม่ทันสมัย ไม่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตทางสังคมให้ดีขึ้น ซ้ำยังเป็นแหล่งมั่วสุมอิทธิพลผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และพวกเขาเชื่อว่า คำสอนของนิกายใหม่โปรเตสแตนต์จะช่วยฟื้นฟูสนับสนุนส่งเสริมคำสอนเดิมให้ทันสมัยเหมาะสมกับยุคสมัยอย่างแท้จริง สามารถช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้ ทำให้เกิดการขัดแย้งทางความคิดและการปฏิบัติอย่างรุนแรง สร้างความสับสนสงสัยในศาสนาคำสอนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้คริสต์ศาสนาแบบดั้งเดิมลดอำนาจอิทธิพลและบทบาทลงเป็นอย่างมาก นำไปสู่การแตกแยกระหว่างอาณาจักรและศาสนจักรในเวลาต่อมา 

คริสต์ศตวรรษที่ 17 ยุคแห่งวิทยาศาสตร์              ในศตวรรษนี้ ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลบทบาททางสังคมและการเมืองลดน้อยลงตามลำดับ (Secularization) เมื่อมีความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาและวิทยาศาสตร์มากขึ้น มนุษย์รู้จักใช้ปัญญาอย่างมีเหตุผล คิดมองเห็นชีวิตและสังคมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องของเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้เป็นไป แต่เป็นเรื่องของความจริงมีเหตุผล คนเลยหันไปสนใจในความจริงธรรมชาติและเหตุผลมากขึ้น สนใจความเป็นจริงของมนุษย์และโลกทางสังคม ศึกษาหาความรู้ต่างๆ ทั้งหลายที่สามารถพิสูจน์ทดลองได้ตามหลักวิธีการทางวิทยาศาสตร์  ศึกษาค้นคว้าพิสูจน์ทดลองอย่างมีเหตุผลเป็นระเบียบแบบแผน ที่เรียกกันว่า “วิทยาศาสตร์สมัยใหม่” (New science)
              ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบายพรั่งพร้อมไปด้วยวัตถุเครื่องอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ ละเลยไม่สนใจความสุขทางจิตใจ เป็นสังคมวัตถุหรือวัตถุนิยม ความเจริญทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีใหม่ต่างๆ มากมาย  ช่วยในการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและความเร้นลับทั้งหลายที่เคยสงสัยกันมา คำถามที่วิทยาศาสตร์พยายามแสวงหาคำตอบ คือ ความจริงแท้ของความเป็นมนุษย์คืออะไร มนุษย์จะปฏิบัติตนต่อสิ่งต่างๆ ทั้งหลายให้ถูกต้องได้อย่างไร พยายามรู้เข้าใจตนเองและสังคมอย่างถ่องแท้ เป็นคำถามเกี่ยวกับรูปแบบชีวิตและหลักการดำเนินชีวิตจริง โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตและสังคมมนุษย์ ส่งผลให้เกิดการคิดใหม่ เขียนเรียบเรียงใหม่ และตั้งทฤษฎีใหม่ในหลายศาสตร์หลายด้าน (Metatheory = second order accounts of theories or second order theories of theories) ไม่ว่าในวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ แพทยศาสตร์ ไม่ว่าทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และพฤติกรรมมนุษย์ มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ กลายเป็นว่าความรู้แนวคิดทฤษฎีทั้งหลายที่มีอยู่เดิมนั้น ไม่ดีไม่ถูกต้องเที่ยงธรรมไม่มีเหตุผลไร้ประสิทธิภาพประสิทธิผลในการปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
              เพื่อเป็นการยืนยันอ้างอิงทฤษฎีที่สร้างขึ้นมาใหม่ (Metatheory) จึงขอเสนอแนวคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยาที่เห็นว่าใหม่ล่าสุด  คือ แนวคิดภาพสร้างทางสังคม (Social constructionist approach) แนวคิดภาพสร้างทางสังคม ภาพที่มนุษย์สังเกตเห็นหรือสร้างขึ้นในใจเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายรอบตัวเขา เขาสังเกตเห็นอะไรคิดอะไร สิ่งนั้นก็เป็นภาพสร้างสำหรับเขา แนวคิดภาพสร้างทางสังคม เห็นความจริงทางสังคมประกอบด้วยปรากฏการณ์ทางสังคมหลากหลายมากมาย ที่เกี่ยวกับการกระทำระหว่างกันและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างต่อเนื่อง อันรวมไปถึงความหมาย การแสดง ประสบการณ์ และการปฏิบัติติดต่อ แต่ละคน แต่ละกลุ่มคน แต่ละครอบครอบ แต่ละสถาบัน แต่ละระบบกฎเกณฑ์ และแต่ละปรากฏการณ์ทางสังคมล้วนแสดงกระบวนการที่ซับซ้อนยากที่จะเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม อันนำไปสู่การสร้างความจริงแห่งโลกทางสังคม จริงๆ มันยากที่จะเข้าใจความหมายขอบเขตปรากฏการณ์ทางสังคมเช่นนั้น  แต่นักสังคมวิทยาก็ได้พัฒนากรอบแนวความคิดเพื่ออธิบายและเข้าใจโลกทางสังคมปัจจุบันว่า ความจริงของโลกทางสังคม มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะอย่างต่อเนื่อง 2 ประการ คือ 1. กระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะในระดับเล็กและใหญ่ (Microscopic-macroscopic continuum) นักสังคมวิทยาสังเกตเห็นว่าโลกทางสังคมมีความจิรงอยู่ 2 ระดับ คือระดับเล็กและใหญ่ อันได้แก่ การกระทำของแต่ละบุคคล (Individual actions) การกระทำระหว่างกันทางสังคม (Social interactions) กลุ่ม (Groups) องค์กร (Organizations) สังคม (Societies) และโลก (World systems) 2. กระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะวัตถุกับจิต (Objective-subjective continuum) ปรากฏการณ์ทางสังคมวัตถุ (Objective social phenomena) แสดงถึงความจริงมีวัตถุอยู่ หมายถึงผู้กระทำหรือแสดงทางสังคม การกระทำ สัมพันธ์ องค์กร โครงสร้าง และกฎหมาย เป็นที่ทราบกันดีว่า ในความจริงของโลกทางสังคมนี้ ไม่มีแต่ปรากฏการณ์ทางสังคมวัตถุอย่างเดียว แต่ยังประกอบไปด้วยปรากฏการณ์ทางสังคมจิตหรือกระบวนการทางจิต (Subjective social phenomena or mental processes) กระบวนการนี้เป็นลักษณะจิตที่ประกอบด้วยบรรทัดฐาน คุณค่าทางสังคม ทัศนคติ ประเพณี และวัฒนธรรมอื่นๆ เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างความจริงทางสังคม (Berger and Luckmann, 1967, Edel, 1959: 167, Korenbaum, 1964: IX และ Ritzer, 1996: 642-646)
              ลักษณะสำคัญของแนวคิดภาพสร้างทางสังคม ก็คือมนุษย์เป็นผู้สร้างความจริงทางสังคม แสดงพฤติกรรมการกระทำระหว่างกันทางสังคม อันได้แก่การแสดงในเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภาษา ประสบการณ์ ความสัมพันธ์ และการปฏิบัติติดต่อ มนุษย์เองเรียนรู้พัฒนาปรังปรุงเปลี่ยนแปลงความหมายความเข้าใจเรื่องโลกและความสัมพันธ์ของพวกเขาตามความเป็นจริงทางสังคม (Ritzer, 1992: 176 และ Hutchison, 1999: 49) ฉะนั้น กระบวนการความจริงทางสังคมจึงประกอบด้วยหลายเหตุหลายปัจจัย มนุษย์จำต้องรู้และเข้าใจตนเองกับกระบวนความจริงทางสังคมเหล่านี้ รู้เข้าใจกระบวนการสังคมตามความจริง แล้วปฏิบัติให้สอดคล้องสัมพันธ์กับกฎเกณฑ์ของมัน ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้องมีเหตุผล คือปฏิบัติถูกต้องมีเหตุผลต่อตนเอง สังคม และสัจจธรรมความจริงทางสังคม อันส่งผลให้ชีวิตและสังคมเป็นระเบียบเรียบร้อยดำเนินไปด้วยดีถูกต้องมีเหตุผลเป็นธรรมมีประสิทธิภาพประสิทธิผลไร้ปัญหา 
              การวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า สมัยใหม่ทันสมัย (Modernism) ในโลกสังคมตะวันตก ส่งผลมีอิทธิพลต่อสังคมและวัฒนธรรมทั้งหลายของโลก เชื่อมโยงใยสัมพันธ์วัฒนธรรมไปทั่วโลกสังคม แพร่กระจายวัฒนธรรม “สมัยใหม่ทันสมัย” แบบตะวันตกไปทั่วทุกมุมโลก ดังปรากฏการณ์ทางสังคม ดังนี้

ปรากฏการณ์ทางสังคม              เกิดการศึกษาหาความจริงมีเหตุผลเป็นระเบียบแบบแผน รู้จักใช้ปัญญาสืบหาความจริง รู้จักสังเกตศึกษาเปรียบเทียบพิสูจน์ทดลองตรวจสอบตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป ต้องคิดให้รอบคอบแม่นยำ ต้องมีการศึกษาพิสูจน์ทดลองก่อนแล้วจึงทำ ไม่เชื่ออย่างงมงายไร้เหตุผล พิจารณาใคร่ครวญก่อนแล้วค่อยทำ รู้จักใช้ปัญญาอย่างมีเหตุผลบนฐานของความจริง  มองเห็นสิ่งต่างๆ ทั้งหลายตามเหตุปัจจัย เห็นโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เห็นเชื่อยึดถือปฏิบัติแล้วก่อให้เกิดประโยชน์สุขไร้โทษภัยอันตราย นำชีวิตไปสู่ความเจริญก้าวหน้าดีงามประเสริฐ  อันเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา สอนให้รู้เข้าใจชีวิตและสังคมตามความจริงมีเหตุผล ใช้ชีวิตทางสังคมให้ถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องสัมพันธ์กับความจริงของโลกสังคมตามเหตุปัจจัย  รู้ความจริงยอมรับความจริงอยู่กับความจริง  ไม่ให้หนีความจริงไม่หนีจากชีวิตและสังคมปัจจุบัน  ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ ศาสนาสอนให้หลุดพ้นไปจากโลก  แม้แต่พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสตัณหาก็ยังดำเนินชีวิตในสังคมเป็นปกติ ไม่หลุดพ้นหนีสังคมไปไหน นอกจากท่านตายไป แต่การใช้ชีวิตของท่านเป็นปกติสุข ไม่สร้างปัญหาก่อความเดือดร้อนให้ใคร  เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขของท่านและสังคม
              เกิดการศึกษาความเป็นมนุษย์ ลักษณะความเป็นมนุษย์ บทบาทหน้าที่ความสัมพันธ์มนุษย์ และความเสมอภาคทางสังคม ชี้ไปที่ศักยภาพความสามารถของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ ลักษณะความเป็นมนุษย์ ความรู้ ความสามารถ บทบาท หน้าที่ของมนุษย์ถูกกำหนดสร้างพัฒนาเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมสังคมและวัฒนธรรม ไม่ใช่ทางธรรมชาติหรือสรีระร่างกาย ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ เกิดแนวความคิดความเสมอภาคระหว่างสตรีและบุรุษ สตรีและบุรุษมีฐานะเท่าเทียมกันทางสังคม สังคมและรัฐต้องยอมรับคุ้มครองให้ความเสมอภาค ให้สิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม  ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะทางสังคม  ไม่ดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกัน Simone de Beauvoir (1908-86) นักสตรีนิยมชาวฝรั่งเศสกล่าวยืนยันว่า คนไม่ได้เกิดมาเป็นหญิงหรือชาย แต่เกิดมาเป็นคน สตรีจะเท่าเทียมบุรุษหรือไม่ หากเราตัดข้อจำกัดของสตรีออกไป โดยเฉพาะในเรื่องการแต่งงาน การกำเนิดบุตร และความเป็นแม่ที่มีความรับผิดชอบต่อบุตร (Marriage, childbirth and responsibilities of motherhood) อันส่งผลมีอิทธิพลต่อแนวความคิดความเสมอภาคระหว่างชายหญิงในโลกปัจจุบัน
              ทำให้โลกสังคมเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะความเจริญทางวัตถุ ทำให้ชีวิตมนุษย์มีการเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น มีการติดต่อสื่อสารกันสะดวกง่ายขึ้น เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว รับรู้ทราบข่าวได้อย่างทันใจ ทำให้เกิดการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม กลายเป็นวัฒนธรรมเสพบริโภค หรือสังคมบริโภค ในทางกลับกัน สร้างมลพิษให้กับชีวิตและสังคมอย่างมาก คุกคามทำลายสังคมและวัฒนธรรม ย่ำยีศีลธรรมและจริยธรรม ท้าทายความอยู่รอดปลอดภัยของมนุษย์ สร้างปัญหาก่อความเดือดร้อนวุ่นวายสับสนให้กับคนและสังคมเป็นอย่างมากเช่นกัน ทำให้คนมีปัญหาสุขภาพกายและจิตใจ ขาดหลักการขาดที่พึ่งไร้หลักการดำเนินชีวิต   ไม่รู้เข้าใจในความจริงความดีและความชั่ว ไม่รู้จะปฏิบัติตนอย่างไร กังวลใจหวั่นไหวไม่มั่นใจในชีวิตและสังคม ตกอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวายเดือดร้อนแก่งแย่งแข่งขันเห็นแก่ตัวตึงเครียดเป็นทุกข์  คนสมัยใหม่จึงไม่มีความหนักแน่นมั่นคงในหลักศีลธรรมและจริยธรรม ไม่สำนึกในคุณค่าความหมายสารประโยชน์ของสิ่งทั้งหลาย มุ่งแสวงหาเสพบริโภควัตถุ ใช้ชีวิตแบบมักง่ายไร้เหตุผลไร้จุดหมายปลายทาง

ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ              เกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีการจัดรูปแบบของการผลิตในสังคมอุตสาหกรรมแบบใหม่  ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิต เพื่อตลาดการค้าระหว่างประเทศอย่างเสรี ต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยการใช้แรงงานที่ชำนาญเฉพาะทาง มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างถูกต้องเหมาะสมให้รับผิดชอบ แบ่งงานตามความรู้ ความสามารถ และความถนัด ผลิตสินค้าให้ได้มากที่สุด
              เกิดการค้าระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศมักถูกจำกัดด้วยค่าภาษี  ธรรมเนียมในการนำเข้าและส่งออกสินค้า เกิดการค้าเสรี พยายามทำการค้าซื้อขายบริการระหว่างประเทศโดยเก็บค่าภาษีและธรรมเนียมต่ำไม่แพง หรือไม่มีการเก็บค่าภาษีและธรรมเนียม ไม่มีการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ภาครัฐ ภาคเอกชน ปัจเจกบุคคล หรือบริษัท มีสนธิสัญญาเปิดประเทศทำการค้าเสรีกับต่างประเทศ ต่างประเทศมีสิทธิติดต่อซื้อขายกับภาคเอกชนได้อย่างเสรี ภาครัฐเข้าไปแทรกแซงทางการค้าน้อยที่สุด มีสิทธิส่งสินค้าเข้ามาขายได้ทุกประเภท มีการหมุนเวียนของเงินทุนและปัจจัยการผลิตอย่างเสรี
              มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจดีขึ้น การเป็นอยู่เป็นไปสะดวกสบายขึ้น ขยายธุรกิจกิจการต่างๆ ทั้งหลาย ทำให้มีการลงทุนและเพิ่มทุนมากขึ้น มีความต้องการทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้คนกระตือรือร้นมากขึ้น มีความขยันขันแข็งทะเยอทะยานทำงานอยู่เสมอ กล้าคิดกล้าเสี่ยงทำกิจการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดทางเศรษฐกิจ คือการได้มาซึ่งเงินทองให้ได้มากที่สุด  เงินคือพระเจ้า ในทางตรงกันข้าม  เมื่ออุตสาหกรรมเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าพัฒนาขึ้น ความกระหายอยากมากเกินไป มีการอพยพเข้ามาทำงานในธุรกิจกิจการมากขึ้น เกิดความหนาแน่นแออันทางสังคมมากขึ้น เกิดการต่อสู้แก่งแย่งแข่งขันเอารัดเอาเปรียบฆ่าทำลายกัน เกิดความเสื่อมโทรมทางสังคมและศีลธรรมอันดีงามตามมา   สร้างปัญหาก่อความไม่สงบให้แก่คนและสังคมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ปรากฏการณ์ทางการเมือง              นักคิดนักปราชญ์ทั้งหลายต่างวิพากษ์วิจารณ์ศาสนากันอย่างหนัก ศาสนาเป็นยาเสพติด เป็นสิ่งงมงายไร้สาระ ไม่มีเหตุผลไม่น่าเชื่อถือ ขาดประสิทธิภาพไร้ประสิทธิผล มีผลร้ายมากกว่าผลดีต่อชีวิตและสังคม เพื่อลดอิทธิพลบทบาทศาสนาที่มีต่อระบบการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม  โดยพยายามที่จะชี้ไปที่ความจริงมีเหตุผลสิ่งสากล อันสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องความเป็นมนุษย์ ความรู้และคุณธรรมของมนุษย์ ความเสมอภาค กระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการสร้างการเมืองการปกครองใหม่แบบ “ประชาธิปไตย (Democracy)” เป็นรูปแบบการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง ใช้อำนาจประชาธิปไตยผ่านผู้แทนของตน ผู้แทนหรือรัฐบาลในรูปของคณะบุคคลที่มีอำนาจ ต้องปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการของรัฐ ทำให้ประชาชนสำนึกรู้สึกคุณค่าความหมายของประชาธิปไตย เกิดความเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ เคารพยอมรับยึดถือปฏิบัติเป็นวัฒนธรรม ขึ้นมาแทนการปกครองแบบราชาธิปไตย ซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดในการปกครองบริหารประเทศ การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ถือได้ว่าเป็นความทันสมัยในสังคมโลกปัจจุบัน อันมีอำนาจอิทธิพลแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมของโลก
ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม              ในเรื่องความเชื่อและการปฏิบัติ พยายามเห็นความสำคัญความเป็นมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ศึกษาพัฒนาเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต พยายามรู้เข้าใจความเป็นมนุษย์ สติปัญญา ความสามารถ ความดีมีคุณธรรม และการกระทำของมนุษย์ ดีชั่วอยู่ที่การกระทำของมนุษย์ สูงหรือต่ำอยู่ที่การทำตัวของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับการกระทำตามเหตุปัจจัย ไม่ขึ้นอยู่กับเทพเจ้าผู้มีอำนาจดลบันดาล เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในการกระทำของตนเอง สามารถพึ่งตนเองได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ที่มนุษย์ มนุษย์เป็นผู้สร้างผู้กำหนดและผู้แสดง เพื่อการเป็นอยู่ที่ดีมีเหตุผลพอเพียงของเขาเอง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงผันผวนของสังคมโลกอย่างต่อเนื่อง 
              พยายามรู้เข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด เป็นการเน้นในเรื่องปัญญาความสามารถการกระทำอย่างฉลาดอดทนของตนเอง    ไม่ให้เชื่อถือและปฏิบัติอะไรอย่างงมงายไร้เหตุผล ขอจงดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของความดีงามถูกต้องมีเหตุผล ที่สำคัญอย่าประมาทมัวเมาหลงใหลในชีวิต รู้เข้าใจแล้วก็เร่งทำเร่งศึกษาพัฒนา มนุษย์จำต้องศึกษาเรียนรู้พัฒนาตนเอง ศึกษาเรียนรู้หาประสบการณ์ เกิดความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และการประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องมีเหตุผลเพียงพอ จนกระทั่งสามารถคิดเป็น ทำถูก เป็นคนดีมีคุณธรรม เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม สามารถดำเนินชีวิตในสังคมอย่างมีความปกติสุขปราศจากทุกข์ไร้กังวลใจ
              จากเส้นทางประวัติศาสตร์ความคิดทางสังคมอันยาวนาน แม้พยายามแสวงความรู้จริงอย่างต่อเนื่อง ความรู้เข้าใจตนเองและสังคมอยู่เสมอ ก็ยังไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้อย่างแท้จริง แม้แนวคิดทฤษฎีใหม่ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมของโลก ผสมผสานหล่อหลอมแนวคิดความเชื่อค่านิยมและการปฏิบัติของคนในสังคมทั้งหลาย ก็ยังหาข้อยุติสรุปไม่ได้ เพราะระดับจิต สติปัญญา และประสบการณ์ของมนุษย์ที่แตกต่างกัน จึงมีแนวความคิดและการปฏิบัติที่ต่างกัน มีการศึกษา ศาสนา สังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป เพราะการเปลี่ยนแปลงพัฒนาก้าวหน้า  การติดต่อสื่อสารสมัยใหม่  การขับเคลื่อนทางสังคม จึงเกิดการเรียนรู้เรียนแบบเอาอย่างทางสังคม  กลายเป็นสังคมและวัฒนธรรมประหนึ่งว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความจริง ความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันในเรื่องศาสนานั้นยังไม่สามารถรวมกันได้ ยังปรากฏแตกต่างทางแนวคิดและปฏิบัติตามความเชื่อและประสบการณ์ของตนอยู่ทั่วโลก เรื่องของศาสนากับชีวิตจิตใจในแต่ละสังคมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่สามารถแยกออกจากกันได้  เป็นเรื่องของพลังศรัทธามาก่อนปัญญาเหตุผล ยังคงมีอิทธิพลบทบาทต่อกันและกันอยู่เสมอ ในโลกสังคมตะวันตก แนวคิดและการปฏิบัติของศาสนาคริสต์ยังแพร่กระจายครอบคลุมไปทั่ว ยังเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ทั้งที่สังคมโลกเจริญถึงจุดสูงสุดแล้ว ศาสนาเป็นเรื่องของชีวิตจิตใจ ส่วนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของวัตถุ ศาสนากับวิทยาศาสตร์จึงเป็นการท้าทายกันระหว่างพลังศรัทธาและปัญญาเหตุผล แต่ก็ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า แนวคิดทฤษฎีและการปฏิบัติทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมตะวันตกถือได้ว่าเป็นแม่แบบสำคัญของสังคมและวัฒนธรรมของโลก ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของสังคมโลกอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง 
              จะเป็นชาวพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม นับถือพระเจ้าหรือความจริงมีเหตุผล ความจริงสูงสุดคือพระเจ้า ความจริงสูงสุดคือธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลาย แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมกับความจริงของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น นั้นคือวัฒนธรรมอันดีงามของมนุษย์โลก ความดีงามเป็นเรื่องของความจริง คือสัจจธรรม เป็นเรื่องของการปฏิบัติได้ผลจริง คือจริยธรรม และเป็นเรื่องความเจริญรุ่งเรื่องก้าวหน้าของชีวิตจริง คือวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่ว่าใหม่ทันสมัย ก่อนที่จะเลียนแบบเอาอย่างเดินตามเขา ควรศึกษาเรียนรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริง รู้เข้าใจเนื้อหาสาระความหมายประโยชน์ มีเหตุผลถูกต้องดีงาม เหมาะสมกับกาลเทศะตนเองและสังคม เป็นที่ยอมรับต้องการของสังคม ค่อยยึดถือปฏิบัติตาม จึงจะเป็นการปฏิบัติสืบสานวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

ความคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) *                จากการศึกษาวิเคราะห์สังคมและวัฒนธรรมตะวันตก พอจะได้ภาพปรากฏการณ์ธรรมชาติทั่วไปว่า  สังคมโลกตะวันตกเป็นสังคมที่เจริญพัฒนาถึงจุดสูงสุด พรั่งพร้อมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ เป็นสังคมที่ผ่านพ้นความเจริญสูงสุดหรือผ่านเลยสังคมอุตสาหกรรมไปแล้ว (Postmodern society or postindustrial society) ผู้คนในยุคนี้หนักไปในการเสพบริโภคใช้สอย ที่เรียกกันว่า สังคมบริโภค (Consumer society) ภูมิหลังทางวัฒนธรรม  เป็นสังคมที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระเจ้า เชื่อศรัทธาในเรื่องเทพเจ้า ในสากลโลกนี้ มีพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งทรงพลานุภาพสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด ทรงสร้างสรรค์สรรพสิ่งทุกอย่าง ทรงกำหนดลิขิตบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างตามอำนาจของตน ทรงเอาพระทัยใส่ใจดูแลทุกสิ่งทุกอย่างให้ดำเนินไปด้วยดี สร้างมนุษย์ขึ้นมาก็เพื่อให้รู้จักกับพระองค์ท่าน มนุษย์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน เพื่อให้พระองค์ท่านโปรดปราน ตายไปแล้วไปอยู่กับพระองค์ท่านในสวรรค์ตลอดกาล ผู้ที่ไม่เคารพศรัทธายำเกรงในพระผู้เป็นเจ้า ตายไปแล้วดวงวิญญาณของเขาก็จะไปอยู่ในนรกตลอดกาลเช่นกัน แนวคิดและการปฏิบัติในลักษณะนี้ยังมีอิทธิพลแพร่กระจายครอบคลุมไปทั่วสังคม แม้ว่าสังคมตะวันตกเจริญพัฒนาถึงจุดสูงสุด พรั่งพร้อมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุ แทนที่จะสุขสมหวังกับความพรั่งพร้อมสมบูรณ์นั้น แต่กลับผิดหวังหาคุณค่าความหมายของชีวิตไม่ได้เหมือนเดิม กลับสร้างปัญหาก่อความเดือดร้อนให้กับสังคมมากกว่าเดิม เพราะขาดแคลนแร้นแค้นวัฒนธรรมทางจิต เกิดวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรมทางจิตอยู่เสมอ สับสนสงสัยไม่รู้เข้าใจในความจริงของชีวิตและหลักการดำเนินชีวิตอย่างต่อเนื่อง พยายามสนใจใฝ่รู้ในเรื่องความเป็นมนุษย์ คุณภาพมนุษย์ และลักษณะมนุษย์ (General sense of humanity, human qualities and identities) ไม่หยุดยั้งแม้แต่ในปัจจุบัน แม้วิทยาการตะวันตกเป็นแม่แบบแพร่กระจายไปทุกวงวิชาการทั่วโลก ความจริง ความรู้ที่เจริญถึงจุดสูงสุดแบบตะวันตกก็ยังไม่สามารถตอบปัญหาชีวิตทางสังคมได้ จึงสำคัญจำเป็นต้องกลับมาคิดทบทวนกระบวนการความคิดและองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งหลายกันใหม่ บนพื้นฐานความจริงสมัยใหม่ทันสมัย  


              
            ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ปรากฏแพร่หลายชัดเจน 1970s) ในสังคมโลกตะวันตก เพื่อความเจริญถูกต้องดีงามของชีวิตและสังคม เกิดมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงพัฒนาแนวคิดทางสังคม เป็นการตีความอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมอีกครั้งหนึ่ง ตามปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น อันนำไปสู่การแตกทำลายหรือมาแทนความคิดสมัยใหม่(Modernism) ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสมัยใหม่ทันสมัยและหลังสมัยใหม่ เพราะพวกเขาไม่มีความเชื่อมั่นในวิทยาการความรู้ที่มีอยู่ ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาชีวิตทางสังคมได้อย่างแท้จริง จึงเกิดแนวความคิดทางสังคมตามภาพที่ปรากฏจริงอีกครั้งหนึ่ง ที่เรียกว่า ความคิดหลังสมัยใหม่ทันสมัย (Postmodernism) อันหมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรม ศิลปะ วิทยาการทั้งหลาย ความคิดทฤษฎีทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ความเชื่อและการปฏิบัติ รูปแบบชีวิต หลักการดำเนินชีวิต และเรื่องอื่นๆ ทั้งหลาย ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของโลกสังคมอย่างต่อเนื่องทั้งหมด 
              เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว สังคมปัจจุบันเจริญพัฒนาด้านวัตถุถึงจุดสูงสุด ติดต่อสื่อสารกันอย่างสะดวกรวดเร็วทางอินเตอร์เน็ต เห็นทั้งภาพและได้ยินทั้งเสียง ต้องการอะไรก็กดปุ่มเอาตามใจปรารถนา จะไปไหนมาไหน  จะทำงานหรือเรียนอะไร จะติดต่ออะไร จะฝากเงินถอนเงิน จะซักผ้ารีดผ้า จะกินจะดื่มอะไรก็กดปุ่มเอา เป็นยุคดิจิตอล และกดปุ่ม (Digital and push button age) สะดวกสบายพรั่งพร้อมไปทุกอย่าง แทนที่จะมีความสุขแต่กลับทุกข์เป็นปัญหา แทนที่จะรู้เข้าใจปัญหาที่มีอยู่แต่กลับตอบไม่ได้ ปัญหาที่มีอยู่กลับทวีความรุนแรงหนักเข้าไปอีก ทำให้เขาผิดหวังมาก พยายามหาทางแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พยายามคิดกันใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าต่อเนื่อง
              ในโลกแห่งความเป็นจริง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์ยังไม่รู้เข้าใจอย่างชัดเจน เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างของเก่ากับใหม่ไม่หยุดยั้ง ชักจูงนำพาสิ่งที่มีอยู่ไปสู่ความจริงขั้นต่อไป มนุษย์ก็พยายามที่จะตามรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เพราะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ดีไม่ถูกต้องและไม่มีผลในการปฏิบัติ เป็นการศึกษาเรียนรู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นเรื่องความเชื่อและการปฏิบัติคุณค่าและรูปแบบพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามวิวัฒนาการทางโลกสังคม อันแสดงให้เห็นว่า วิทยาการความรู้บางอย่างที่มีอยู่ยังไม่เป็นความจริงถูกต้อง จึงจำเป็นต้องพยายามแสวงหาความจริงกันต่อไป ในศตวรรษที่ 21  (คือเริ่มตั้งแต่ 2001) นักคิดทางสังคมทั้งหลายจึงพากันคิดและเก็งกระบวนการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของโลกสังคมจะเป็นไปในทิศทางใด จะเกิดปรากฎการณ์ทางสังคมอย่างไรกันต่อไป

ระบบฟิวดัล

ระบบฟิวดัล(Feudalism)
เป็นลักษณะการปกครองและสังคมของชนเผ่าเยอรมัน(เน้นความผูกพันระหว่างนักรบกับและหัวหน้านักรบตามประเพณี Comitatus โดยกษัตริย์กระจายอำนาจไปสู่หัวหน้าหรือกลุ่มนักรบ)และลักษณะการปกครองที่สืบทอดมาจากโรมัน(ระหว่างผู้อุปการะกับผู้รับอุปการะและความสัมพันธ์ระหว่าง นายกับข้าทาส) ผสมผสานกันเป็นรากฐานของยุโรปสมัยกลาง ในช่วงที่อาณาจักรโรมันล่มสลาย ชาวนาเจ้าของที่ดินต้องหลบหนี ลี้ภัย เกิดความหวาดกลัว จึงต้องยกที่ดินให้ผู้มีอำนาจเพื่อขอความคุ้มครองเจ้าของที่ดินเดิมเปลี่ยนสภาพมาเป็นผู้เช่าที่ดิน แต่เป็นเสรีชนและกษัตริย์มีอาณาจักรกว้าง

ระบบฟิวดัล
เกิดในฝรั่งเศสคริสต์ศตวรรษที่ 5 ที่อิตาลีคริสต์ศตวรรษที่ 6 นำมาใช้ในอังกฤษต้นศตวรรษที่ 11 และในเยอรมัน
ลักษณะความสัมพันธ์ในระบบฟิวดัล คือ
ระบบฟิวดัลเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง Lord (เจ้านาย) กับVassal (ผู้พึ่ง) เป็นระบบการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางกษัตริย์ไปยังขุนนางแคว้นต่างๆ ขุนนางต่างมีกองทัพของตนเอง
หน้าที่ของ Lord คือพิทักษ์รักษาVassalและที่ดินของ Vassalจากศัตรูและให้ความยุติธรรม ปกป้องคุ้มครองในการพิจารณาคดี
โครงสร้างทางสังคมของระบบฟิวดัล
 1. กษัตริย์มีฐานะเป็น Lord สูงสุดโดยมีขุนนางเป็นVassalมีพันธะผูกพันทางหน้าที่ต่อกัน กษัตริย์จะพระราชทานที่ดินเป็นการมอบหมายอำนาจในการปกครองให้กับขุนนาง อำนาจของกษัตริย์อ่อนลงปกครองราษฎร์ที่อยู่รอบพระนคร ดินแดนส่วนอื่นๆเป็นของขุนนาง และมีความผูกพันกับกษัตริย์โดยยกย่องให้เป็นหัวหน้า มีข้อ
ผูกพันกับกษัตริย์เพราะมีที่ดินอยู่ในอาณาเขตจึงยอมเป็นVassal มีหน้าที่ช่วยเหลือพระเจ้าแผ่นดินยามสงคราม ที่ดินที่กษัตริย์พระราชทานให้สามารถริบคืนได้ถ้าVassalไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือสิ้นชีวิตโดย ไม่มีทายาท
 2. ชนชั้นปกครองหรือขุนนางเจ้าของที่ดิน (Suzerain)นับตั้งแต่อัศวินขึ้นไปในฝรั่งเศส มีบรรดาศักดิ์เป็น Duke,Earl, Lord, Baron, Countมีการปกครองลดหลั่นตามลำดับขั้น ดูแลปกครองเสรีชนๆมีฐานะเป็น Vassalของขุนนาง ขุนนางมีฐานะเป็นทั้ง Vassalของกษัตริย์ ซึ่งVassalมีหน้าที่ส่งทหารของตนไปสมทบกับกองทัพของLord และช่วยเหลือทางการเงินแก่Lord ขุนนางชั้นสูงยังมีฐานะเป็นLord ของขุนนางชั้นต่ำกว่าลงมา ขุนนางเป็นเจ้าของปราสาท
หรือคฤหาสน์ ยังมีขุนนางที่ผ่านการฝึกได้รับการสถาปนาแต่ตั้งให้เป็นอัศวิน(Knight)ไม่ใช่ขุนนางที่สืบทอดทางสายโลหิต
3. เสรีชน (villain) ส่วนใหญ่เป็นชาวนา เป็นผู้เช่าที่ดินซึ่งเคยเป็นของตนเองแต่ไม่มีภาระผูกติดกับที่ดิน หรือเป็นเจ้าของที่นาขนาดเล็ก ชาวนารายเล็กๆ
4. ทาสติดที่ดิน(serf) คือชาวนาที่อาศัย ทำกินบนที่ดินตั้งแต่บรรพบุรุษ ต้องผูกติดกับที่ดิน จะโยกย้ายไปไหนไม่ได้ อยู่ในการควบคุมของเจ้านาย ต้องเสียภาษีรัชชูปการภาษีผลิตผลที่ผลิตได้ให้เจ้านาย ยอมให้เจ้านายเกณฑ์แรงงานขุดคู สร้างสะพาน
 5. พระและนักบวช มีบทบาททางการอบรมจิตใจให้แก่สามัญชน
การเลื่อนชั้นทางสังคมทำได้หรือไม่การเลื่อนชั้นทางสังคมของชาวนาอิสระและทาสติดที่ดินทำได้ยากเพราะชนชั้นเจ้าของที่ดินและชาวนามีระบบสืบทอดกรรมสิทธิ์ตามสายโลหิต
การขยายพื้นที่อาณาเขตทำได้โดย
1. โดยวิธีแย่งชิง ทำสงคราม
2. การแต่งงานและการรับมรดก
เหตุที่ระบบฟิวดัลเสื่อมลง  คือ
1. เนื่องจากการปฏิวัติทางเศรษฐกิจคริสต์ศตวรรษที่ 11
2. การฟื้นฟูการค้ากับตะวันออกใกล้ มีการไถ่ตัวทาสติดที่ดินเป็นอิสระโดยไปทำการค้าเป็นช่างฝีมือ มีการเลื่อนฐานะเป็นชนชั้นกลางและมีอิทธิพลางเศรษฐกิจ
3. เกิดโรคะบาด กาฬโรค ทั่วยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ทำให้แรงงานหายาก ทาสติดที่ดินมีโอกาสเป็นอิสระ โยกย้ายที่อยู่ ระบบแมเนอร์จึงสลายตัว
4. มีทหารรับจ้าง ชาวนา หนีไปเป็นทหารรับจ้าง เกิดจลาจลชาวไร่ ชาวนา
5. จากสงครามครูเสด และสงคราม 100 ปี ทำให้อัศวินเสียชีวิตมาก กษัตริย์ยึดอำนาจคืนจากขุนนางโดยมีพ่อค้า ชนชั้นกลางสนับสนุน กษัตริย์เริ่มติดต่อโดยตรงกับประชาชนทรงมีอำนาจ
ปกครองอย่างแท้จริงยุบกองทัพของขุนนาง
    กล่าวได้ว่าระบบฟิวดัลได้วิวัฒนาการเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสเปนและฝรั่งเศส

ประเทศกรีซ

                                           
ประเทศกรีซ
กรีซ ( Greece) หรือเรียกอย่าางเป็นทางการว่า สาธารณรัฐเฮลเลนิก ( Hellenic Republic) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ตอนใต้สุดของคาบสมุทรบอลข่าน มีพรมแดนทางเหนือติดกับประเทศบัลแกเรีย มาซิโดเนีย และแอลเบเนีย มีพรมแดนทางตะวันออกติดกับประเทศตุรกีทะเลอีเจียนทางด้านตะวันออกติดทะเลไอโอเนียนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางด้านตะวันตกและใต้ กรีซนับว่าเป็นแหล่งอารยธรรมตะวันตกอันยิ่งใหญ่ และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

เกาะครีต
  ครีต (Crete) เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะกรีกและเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นลำดับห้าในบรรดาเกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีเนื้อที่ 8,336 ตารางกิโลเมตรครีตเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมมิโนอัน (Minoan civilization) ที่เป็นอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาอารยธรรมกรีกที่รุ่งเรืองระหว่าง2600 ถึง 1400 ปีก่อนคริสต์ศักราช
    ในปัจจุบันครีตเป็นหนึ่งในสิบสามเขตการปกครองของกรีซ (Peripheries of Greece) และมีความสำคัญทางเศรฐกิจและวัฒนธรรมต่อกรีซ เดิมเกาะครีตรู้จักกันในชื่อภาษาอิตาลีว่า คันเดีย” (Candia) จากชื่อเมืองหลวงในยุคกลางเฮราคลิออน (Heraklion)ที่ตั้งของครีตมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ในปัจจุบันเป็นสถานที่ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ครีตเป็นที่ตั้งของ สถาที่สำคัญของอารยธรรมมิโนอันที่รวมทั้งคนอสซอส และ ไฟทอส (Phaistos), กอร์ทิส (Gortys), เมืองท่าคาเนีย  (Chania) ของเวนิส, ปราสาทเวนิสที่เรธิมโน (Rethymno) และ ซอกเขาซามาเรีย (Samaria Gorge) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเกาะครีตเป็นฐานทัพเรือของอิตาลีเมืองที่เป็นศูนย์กลางด้านกาคมนาคมบนเกาะครีตคือ เฮราคลิออน (Heraklion) นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเครื่องบินจากกรุงเอเธนส์มาลงที่เฮราคลิออน หรือที่สนามบินเมืองคาเนีย หรือเลือกเดินทางด้วยเรือข้ามฟากจากกรีซมายังเฮราคลิออนและคาเนียที่มีท่าเรือขนาดใหญ่
            เกาะครีตมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมื่อสมัยมิโนอันเรืองอำนาจ ซึ่งแต่เดิมมีกษัตริย์ปกครอง จึงมีพระราชวังโบราณที่เรียกว่าคนอสซอส (Palace of Knossos) อยู่ห่างจากเฮราคลิออนไปทางใต้ 5 กิโลเมตร พื้นที่โดยรอบถูกจัดเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง สิ่งที่ยังพบเห็นในปัจจุบันคือบางส่วนของตัวอาคารมีเสากลมสีแดงเรียงรายโดยรอบ และด้านในมีภาพเขียนแสดงให้เห็นความเป็นอยู่ของชาวมิโนอันในสมัยก่อน


เกาะเอจิน่า
เกาะเอจิน่า หรือ เกาะนกพิราบ เป็นเกาะตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรเปโลปปอนเนส มีอู่ต่อเรือ กองเรือ และสามารถผลิตเงินเหรียญของกรีกรุ่นแรก ทำให้เกาะนี้มีอำนาจทางการเงินครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างในโลกยุคโบราณ เกาะนี้มีคฤหาสน์หรู และศูนย์รวมของเกาะนี้อยู่ในเอจีนาทาวน์ แบบฉบับของเมืองเล็กๆ ของกรีกเมื่อศตวรรษก่อน  ชมวิหารอาเฟอา สร้างขึ้นมากว่า 490 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่ชาวเอเธนส์จะยึดครอง วิหารนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสถาปัตยกรรมดอริกยุคโบราณ และยังเป็นวิหารกรีกเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ที่มีเสาเล็กๆซ้อนทับเป็นแถว ที่สองอยู่ภายในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ และไม่ควรพลาดกับการซื้อถั่วพิสตาชิโอ ที่มีขายอยู่มากมายบนเกาะ 
เกาะมิโคนอส
เกาะมิโคนอส  (Myconos) เกาะแห่ง Jet Set หรือเหล่าชนชั้นสูงทั่วโลกที่ต่างนิยมล่องเรือยอร์ทมาพักผ่อนตากอากาศ และเป็นเกาะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในหมู่เกาะ ไซคลาดิก ด้วยทิวทัศน์และ บริเวณตอนกลาง เยื้องลงมาทางใต้ของทะเลอีเจียน อยู่ห่างจากกรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ 94 ไมล์ทะเล
  ซึ่งสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มายังเกาะนี้คือ น้ำทะเลสีเขียวเข้มใสสะอาดและหาดทรายสีทอง ที่โดดเด่นโดนใจอีกอย่างก็คือบรรดาบ้านช่องทรงสี่เหลี่ยมบนเกาะล้วนทาสี ขาวสะอาดตา สัมผัสมนต์เสน่ห์ของกลุ่มบ้านริมทะเลอีเจี้ยนที่ถูกขนานนามว่า เมืองเวนิซน้อยๆ “Small Venice” (Mikri Venetia) ถือว่าเป็นอีกจุดที่ถูกถ่ายภาพมากที่สุด ริมทะเลอีเจี้ยน ที่มีบรรยากาสคล้ายคลึงกับนครเวนิส ประเทศอิตาลี มหัศจรรย์กับ Windmills หรือกังหันกลางทะเลที่เรียกว่า Kato myloi ซึ่งในอดีตมีมากกว่า 20 อันปัจจุบันเหลือเพียง 7 อันเท่านั้น กังหันเหล่านี้ตั้งเรียงรายอยู่ริมชายฝั่งเป็นซิมโบลิกของภูมิปัญญาชาวบ้าน เนื่องจากเกาะนี้มีคลื่นลมแรงเกือบตลอดปี โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม เป็นช่วงที่มีลมเข้ามามากที่สุด 


   สรุป ประเทศกรีซเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน เเละมีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมากมาย ซึ่งบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตได้เป็นอย่างดี ประเทศกรีซประกอบด้วยเเผ่นดินใหญ่ในทางทิศใต้ไปจนถึงเเหลมบอลข่านเเละเกาะมากมายกว่า 3,000เกาะ ประเทศกรีซมีเเนวชายฝั่งทะเลยาวถึง 15,000กิโลเมตร ทะเลรอบ ๆ ประเทศกรีซ มีแมวน้ำ เต่าทะเล และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่หายากอาศัยอยู่ ในขณะที่ป่าของกรีซ เป็นบ้านหลังสุดท้ายของยุโรปตะวันตก ที่มีหมีสีน้ำตาล แมวป่า กวางโร แกะป่า สุนัขจิ้งจอก และหมูป่า  ประเทศกรีซจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวผู้ที่รักประวัติศาสตร์






















อ้างอิง : ศิลปวัฒนธรรมตะวันตกเพื่อการนำเที่ยว : พิทยะ ศรีวัฒนสาร